top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนSabypay

ทริคสำหรับสตาร์ทอัพ ธุรกิจราบรื่น ด้วยระบบ HR ที่มั่นคง



สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยในการดำเนินธุรกิจ คือการมีพนักงานคุณภาพซึ่งเป็นกำลังหลักในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ให้เกิดขึ้น หากลองมองในเชิงลึก จะเห็นได้ว่าการคัดสรรพนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและรักษากลุ่มคนเหล่านี้ให้ร่วมงานอยู่กับบริษัทเดิมอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ทั้งหมดจำต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการคัดเลือกคน และวางระบบการดูแลพนักงานตั้งแต่แรกเข้า ตำแหน่งฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือที่เรียกกันอย่างคุ้นชินว่า HR จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการจัดการเรื่องต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ และอาจรวมไปถึงหัวข้อเบ็ดเตล็ดเรื่องอื่นๆ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการทำงานประเภทเดียวกันด้วย


องค์กรขนาดใหญ่มักมีทีม HR หลายตำแหน่ง คอยดูแลจัดการงาน HR แต่ละส่วนให้ เมื่อมีงบประมาณจำนวนมากจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้หลายคนที่คอยประจำการดูแลอยู่ แต่สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพอาจแตกต่างออกไปจากนั้น งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดส่งผลให้สตาร์ทอัพหลายแห่งเลือกที่จะตัดการจ้างบุคลากรในตำแหน่ง HR ทิ้ง เพื่อมุ่งให้ความสนใจแต่เพียงการสร้างธุรกิจเท่านั้น โดยผู้บริหารซึ่งก็คือเจ้าของสตาร์ทอัพจะรับหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ไปด้วย แน่นอนว่าการดูแลด้าน HR เป็นเพียงหนึ่งในบทบาทหน้าที่อันหลากหลายที่ผู้บริหารรับไปดูแล การบริหารให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีในทุกส่วนงานจึงอาจเป็นไปได้ยาก เมื่อผู้ที่รับผิดชอบต้องดูแลหลายเรื่องหลายหัวข้อในเวลาเดียวกัน ไหนจะยังปัจจัยเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละด้านอาจทำให้ไม่ได้ผลลัพธ์ที่เต็มประสิทธิภาพอย่างที่คาดหวังเอาไว้ เพราะฉะนั้นแล้วการมีนโยบาย HR ที่แข็งแรง โดยเฉพาะจึงจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจได้ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว


วางรากฐาน ด้วยการกำหนดทิศทางบริษัท

ขั้นตอนแรกในการสร้างระบบ HR คือการวางแผนกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งเจ้าของธุรกิจและพนักงานทุกคนควรรับรู้ร่วมกัน นอกจากนี้ยังควรมีการทำข้อตกลงร่วมกันถึงการจัดลำดับความสำคัญของการทำงาน อย่างไหนควรมาก่อนมาหลัง ข้อกำหนดและข้อควรระวังมีอะไรบ้าง สร้างความเข้าใจที่มีต่อภาพรวมของธุรกิจ ทั้งกลยุทธ์และนโยบายการดำเนินงาน โปรดักส์ของบริษัท และกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเข้าถึง ที่สำคัญคือทุกคนควรทราบถึงบทบาทหน้าที่ของ HR ว่าจะมีส่วนช่วยในการผลักดันธุรกิจอย่างไร ทั้งหมดก็เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น


ให้ความสำคัญกับฟังก์ชันพื้นฐานของ HR

บทบาทหน้าที่ของ HR นั้นมีมากมาย การวางรากฐานระบบ HR ในบริษัทจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงนโยบายทางด้าน HR ที่บริษัทควรจะต้องมีเป็นอย่างแรก ข้อมูลไหนบ้างที่ควรจะต้องถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ อย่างเช่น เอกสารการจ้างงาน, ข้อมูลพนักงาน, จำนวนชั่วโมงทำงานของพนักงาน, จรรยาบรรณในการทำงาน และข้อมูลเกี่ยวกับเพย์โรล เป็นต้น อาจลองหาแบบฟอร์มที่สามารถนำมาปรับใช้ได้เลย โดยเลือกจากตัวเลือกมากมายบนโลกออนไลน์ จากนั้นขอความร่วมมือจากหัวหน้าแต่ละแผนกในการรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของลูกทีม แล้วจึงนำมาจัดเก็ยไว้อย่างเป็นระบบ อาจขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีในบริษัทในการดูแลด้านความปลอดภัยของข้อมูล ป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหล ซึ่งจะเป็นภัยต่อบริษัทตามมาในอนาคต


จะจ้างคนที่ใช่ ขั้นตอนต้องตอบโจทย์

ขั้นตอนการรับสมัครพนักงานดูจะเป็นกระบวนการที่ยาวนานซะเหลือเกิน เริ่มตั้งแต่คัดโปรไฟล์ผู้สมัคร สัมภาษณ์ วิเคราะห์ ตัดสินใจ ทำข้อตกลง และอื่นๆ อีกมากมาย กว่าจะถึงวันเริ่มงานก็กินเวลาและพลังงานไปมากเหลือเกิน ดังนั้นแล้วการวางระบบขั้นตอนการรับสมัครไปจนถึงวันเริ่มงาน จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้สมัครและบริษัท เพิ่มโอกาสในการเลือกคนที่ใช่ ที่เหมาะสมให้กับบริษัท เช่น การสัมภาษณ์จะมีทั้งหมดกี่ขั้นตอน, วิธีประเมิน มีเกณฑ์อย่างไร, พนักงานหรือหัวหน้าทีมคนไหน จะมีส่วนในการตัดสินใจบ้าง เป็นต้น ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยคัดกรองคนที่ใช่ และทำให้คุณมั่นใจได้ว่าพนักงานของคุณจะมีความสุขกับการทำงาน และสังคมเพื่อนร่วมงาน


เหนือจากการพัฒนาโมเดลธุรกิจ โฟกัสไปที่โปรดักส์ และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเพื่อสร้างแบรนด์แล้ว ผู้บริหารสตาร์ทอัพต้องไม่ลืมที่จะนึกถึงและให้ความใส่ใจพนักงานผู้เป็นกำลังสำคัญของการดำเนินธุรกิจ บทบาทหน้าที่ของ HR ในสตาร์ทอัพคือการเรียนรู้ทำความเข้าใจความต้องการของพนักงาน และตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานได้รับในสิ่งที่ต้องการ เสียงของพนักงานทุกคนมีค่าเป็นอย่างยิ่ง ท้ายที่สุดแล้วก็เพื่อความสำเร็จของบริษัท และของสมาชิกทุกคนในบริษัทนั่นเอง

ดู 13 ครั้ง0 ความคิดเห็น
Post: Blog2_Post
bottom of page